ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลทำไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยปีงบประมาณ 2563-2564 เก็บรายได้ตำกว่าประมาณการไปถึง 643,998 ล้านบาท
ซึ่งด้านหนึ่งก็คือ ประชาชนและภาคธุรกิจมีรายได้ลดลง ขณะที่ภาครัฐเองก็ต้องมีมาตรการออกมาช่วยเหลือผู้เสียภาษี
ส่วนอีกด้านก็คือ การเตรียมแผนปรับขึ้นภาษีต่าง ๆ ไม่สามารถทำได้เช่นเวลาปกติ ต้องเลื่อนออกไปก่อน มาถึงปี 2565 เป็นปีที่ 3 แล้วสำหรับการอยู่ร่วมกับ “โควิด” ซึ่งรัฐบาลพยายาม “มูฟออน” และพยายามมองหาทางเก็บภาษีให้ได้มากขึ้น รวมถึงการมีแนวคิดที่จะเก็บภาษีใหม่ ๆ หลายรายการ
ไตรมาสแรกเก็บรายได้เข้าเป้า
สำหรับสถานการณ์จัดเก็บรายได้ล่าสุด ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.-ธ.ค. 2564) โดย “กฤษฎา จีนะวิจารณะ” ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สัญญาณการจัดเก็บรายได้ของกระทรวงการคลังช่วงต้นปีงบประมาณ 2565 อยู่ในทิศทางที่ดี สามารถทำได้ตามแผน จึงคาดว่าทั้งปีจะสามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมายในเอกสารงบประมาณที่กำหนดไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท
“พรชัย ฐีระเวช” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ไตรมาสแรกรัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิกว่า 557,173 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 29,651 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.6% และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 5.6% จากการที่กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้กว่า 411,377 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 49,695 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13.7% ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่สูงกว่าประมาณการ
นอกจากนี้ กรมศุลกากรก็จัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการ 306 ล้านบาท รวมถึงรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 6,362 ล้านบาท จากการนำส่งรายได้ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่สูงกว่าประมาณการเป็นสำคัญ
เลื่อนภาษี-สรรพสามิตหลุดเป้า
อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต 134,777 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการไป 9,447 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.6% เนื่องจากประมาณการได้รวมผลของการปรับโครงสร้างภาษีไว้ แต่จำเป็นต้องชะลอการดำเนินการออกไป ขณะที่ส่วนราชการอื่นเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 5,384 ล้านบาท หรือคิดเป็น 16.5% จากการปรับลดอัตราค่าปรับและค่าธรรมเนียมของส่วนราชการ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการในช่วงสถานการณ์โควิด
เดือน ม.ค.เริ่มมีสัญญาณบวก
แหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิตกล่าวว่า แม้ในช่วงไตรมาสแรก กรมจะจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า แต่ล่าสุดในเดือน ม.ค. 2565 สามารถจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมายถึง 3,000 ล้านบาท จากภาษีน้ำมัน ภาษีรถยนต์ และภาษีบุหรี่ที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะการจัดเก็บรายได้สรรพสามิตขึ้นอยู่กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นหลัก หากระยะต่อไปกิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้น ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดลดลง การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตก็จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และคาดว่าจะสามารถเก็บได้ตามเป้าหมายที่ 592,000 ล้านบาท
สรรพากรลุยเก็บภาษีคริปโท
ด้านแหล่งข่าวจากกรมสรรพากรกล่าวว่า สัญญาณการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรมีทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการเก็บภาษีอีเซอร์วิสที่เก็บจากผู้ให้บริการต่างประเทศที่เริ่มเก็บภาษีครั้งแรกในปีงบประมาณ 2565 นี้
โดยขณะนี้ก็มีผู้ให้บริการจากต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนแล้วกว่า 120 ราย มีรายได้จากการเก็บภาษีมากกว่า 2,000 ล้านบาทแล้ว
นอกจากนี้ ในปีนี้กรมสรรพากรก็จะมีรายได้จากการเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโทเคอร์เรนซีเข้ามามากขึ้นด้วย จากที่ผ่านมามีการเก็บภาษีมาตั้งแต่ปี 2561 แต่ยังได้เงินเข้ามาแค่ปีละ 20-30 ล้านบาทเท่านั้น
กรมศุลฯจับตาเอฟเฟ็กต์เงินเฟ้อ
ขณะที่ “พชร อนันตศิลป์” อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ช่วง 3 เดือนแรก กรมเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการเล็กน้อยโดยแม้จะมีการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเข้ามา แต่สถานการณ์ไม่ได้รุนแรง ไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงต่อการนำเข้าและส่งออกสินค้า
อย่างไรก็ดี ในปีงบประมาณ 2565 นี้ กรมจะเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ด้วยการเพิ่มเครื่องมือในการตรวจสอบการนำเข้าและส่งออกสินค้า เพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษี เช่น เครื่องเอกซเรย์คร่อมสายพาน เป็นต้น
“เป้าการจัดเก็บรายได้ของกรมศุลฯตามเอกสารงบประมาณปี 2565 อยู่ที่ 105,000 ล้านบาท หากเงินเฟ้อไม่สูงมาก การจัดเก็บรายได้ก็น่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย อย่างไรก็ดี สภาขนส่งทั้งหลายก็ยังประเมินว่าได้รับผลกระทบจากเรื่องเงินเฟ้อ แต่อาจยังจะเร็วเกินไป จะต้องรอติดตามผลอีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งคาดว่าภายในไตรมาสแรกปี 2565 นี้น่าจะเห็นสัญญาณชัดเจนขึ้น”
สุดท้ายแล้ว คงต้องติดตามกันต่อไปว่า หากสุดท้ายแล้วเศรษฐกิจยังฟื้นตัวแบบลุ่ม ๆ ดอน ๆ การเก็บรายได้ไม่เข้าเป้าอย่างที่คิดไว้ ทางกระทรวงการคลังจะปรับแผนอย่างไรต่อไป
อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance